
สภาฟรีเมสันรัตนโกสินทร์ หมายเลข 1833 ธรรมนูญสกอตแลนด์
หนังสือแสดงการยืนยันในการก่อตั้งสภาฟรีเมสันรัตนโกสินทร์ โดย
ท่านประธานสภาฯก่อตั้ง Bro กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา
เอกลักษณ์ฟรีเมสันในประเทศไทย
ฟรีเมสันเข้ามาในประเทศไทยกว่า 100 ปีเริ่มด้วย
สภาฟรีเมสันเซนต์จอห์น (St John) ตั้งขึ้นตามธรรมนูญสกอตแลนด์
ในปี 1911 ขณะนี้ในประเทศไทยมีสภาฟรีเมสันตามธรรมนูญต่างๆ ทั้งหมด 5 ธรรมนูญ ดังนี้ สกอตแลนด์, อังกฤษ, ไอร์แลนด์, ฝรั่งเศส และ ดัทช์ แต่อย่างไรก็ตามเมื่อรวมจำนวนสมาชิกทั้งหมดแล้วก็มีไม่ถึง 200 คน ในจำนวนนี้มีคนไทยประมาณ 20 คน
ฟรีเมสันเป็นศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่สอนให้รู้ซึ้งถึงคุณค่าศีลธรรม เกียรติยศ คุณงามความดี ไมตรีจิต สันติสุข และความโอบอ้อมอารีย์ พร้อมทั้งส่งเสริมให้รักษาความสงบเรียบร้อย กระทำทุกอย่างด้วยความถูกต้องและ การนับถือตนเอง ขณะเดียวกัน ก็เน้นเรื่องการเคารพกฎหมายบ้านเมือง อีกทั้งยังส่งเสริมให้มีความจงรักภักดีต่อองค์กรที่ตนร่วมอยู่ และศรัทธาในศาสนาที่ตนนับถือ
มีคำถามว่า เหตุใดคนไทยถึงร่วมเข้าเป็นสมาชิก
ฟรีเมสันกันน้อยมาก ทั้งๆที่ฟรีเมสันเข้ามาก่อตั้งในประเทศไทยกว่า 100 ปีแล้ว เหตุผลคงไม่ไช่เพราะคนไทยไม่เชื่อในคุณค่าของ
ฟรีเมสัน แต่เพราะกำแพงสำคัญคือกำแพงทางภาษานั่นเอง
ภาษาที่ใช้ในการดำเนินกิจกรรมต่างๆของฟรีเมสัน ล้วนเป็นภาษาต่างประเทศ คนไทยใช้ภาษาไทยเป็นภาษาหลัก แม้ว่าจะมีโอกาสใช้ภาษาอังกฤษบ้าง ยิ่งไปกว่านั้นภาษาอังกฤษที่ชาวฟรีเมสันใช้ในการประกอบพิธีการต่างๆ เป็นภาษาอังกฤษโบราณซึ่งยิ่งไม่ค่อยคุ้นเคยแม้แต่ชาวอังกฤษที่เป็นเจ้าของภาษาก็ไม่ได้ใช้กันในชีวิตประจำวัน
อันที่เป็นจริงแล้ว การแปลจากภาษาหนึ่งเป็นอีก
ภาษาหนึ่ง คำต่อคำเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ท่าน Oliver W. Holmes,
ผู้พิพากษาศาลสูงสุดชาวอเมริกันที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่งกล่าวไว้ว่า คำๆหนี่งมีความไม่ชัดพอ ที่จะแปลเป็นอีกภาษาหนี่งให้ชัดเหมือนต้นภาษา คำๆหนึ่งในภาษาหนี่งเป็นเพียงเปลือกภายนอกของความคิดที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ตามกาลสมัย และสถานที่ที่นำคำนั้นไปใช้
ดังนั้นสภาฯ จึงได้ตัดสินใจที่คงภาษาอังกฤษไว้ในชื่อเรียก ผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆในสภา และคำบางคำไว้เป็นภาษอังกฤษตามเดิมไปก่อน และจะพยายามค้นคว้าความหมายต่อไปจนกว่าจะได้พบคำแปลที่เหมาะสมที่มีความหมายในระดับเดียวกัน
ในฟรีเมสันสมาชิกที่มีคุณภาพมีความสำคัญอย่างยิ่ง สภาฯจะพิจารณารับสมาชิกที่มีคุณสมบัติที่ดีพร้อมพัฒนาตนเองไปเป็นคนที่ดียิ่งขึ้น และพร้อมที่จะนำพาสภาฟรีเมสันรัตนโกสินทร์ของเราเติบโตไปข้างหน้าเพื่อสังคมชุมชนรอบข้างดียิ่งขึ้น
วิวัฒนาการและการเจริญเติบโตของสภาฟรีเมสันที่ใช้ภาษาไทยคงต้องใช้เวลาเช่นเดียวกับที่เราเฝ้าดูแล ถนุถนอมกล้วยไม้ที่กำลังเติบโต จนออกช่อดอกสวยงาม เราเชื่อมั่นว่าเราจะเติบโตทีละเล็กที่ละน้อยแม้ว่าจะช้าแต่เติบโตหยั่งรากลึกอย่างเข้มแข็ง และในที่สุดเราจะเห็นผลที่งดงามอันจะเป็นความภาคภูมิใจของทุกคนที่มีส่วนร่วมในการก่อตั้งสภาฟรีเมสันรัตนโกสินทร์
Bro กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา
Substitute District Grand Master,
Past Master Lodge St John No 1072, S.C.
Past Master Lodge Lan Xang No 1632 S.C.
ประวัติความเป็นมาของชื่อสภาฟรีเมสันรัตนโกสินทร์
คำว่า "รัตนโกสินทร์" เป็นส่วนหนึ่งของชื่อเต็มของ กรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของประเทศไทย โดยนามนครแห่งนี้เริ่มว่า "กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์" หมายความว่า นครอันยิ่งใหญ่เป็นที่สถิตย์ของเทพเทวดาทั้งหลาย และเป็นที่ประดิษฐานของแก้วอันสำคัญของพระอินทร์ (หมายถึงพระแก้วมรกต) ซึ่งตามตำนานแล้วเป็นพระพุทธรูปองค์สำคัญที่พระอินทร์บัญชาให้พระวิษณุกรรม (วิศวกรรม) สร้างพระพุทธรูปองค์นี้
ทั้งนี้คำว่า "รัตนโกสินทร์" ก็ยังเป็นชื่อเรียกอาณาจักรของไทยยุคปัจจุบันที่สืบทอดมาแต่ อาณาจักรทวราวดี อาณาจักรสุโขทัย อาณาจักรกรุงเทพทวาราวดีศรีอโยธยา (อยุธยา) และอาณาจักรกรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร จนกลายเป็นประเทศไทยในปัจจุบัน ซึ่งสภาฯของเราตั้งอยู่ในกรุงเทพฯจึงเลือกนาม "รัตนโกสินทร์" เพื่อความเป็นสิริมงคลและเจริญรุ่งเรืองของสภาฯเช่นเดียวกับกรุงรัตนโกสินทร์
ประวัติความเป็นมาของสัญลักษณ์สภาฟรีเมสันรัตนโกสินทร์
สภาฯแห่งนี้ได้ใช้ พระปรางค์วัดอรุณ เป็นสัญลักษณ์
จึงขอเสนอประวัติความเป็นมาดังนี้
สมเด็จพระเจ้าตากสิน ขุนศึกคนสำคัญในสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา อดีตเจ้าเมืองตาก พร้อมด้วยทหารเอกได้ต่อสู้กับทหารข้าศึกตีฝ่าวงล้อมออกจากพระนครกรุงศรีอยุธยาพระองค์เสด็จเลียบตามชายฝั่งทางตะวันออกไปยังเมืองจันทบุรี และรวบรวมอาสาสมัครตามรายทางเพื่อให้กองทัพเข้มแข็งยิ่งขึ้น
และรวบรวมเสบียง ไพร่พลพร้อมทั้งต่อเรือรบ โดยหวังที่จะ
กอบกู้บ้านกู้เมืองกรุงศรีอยุธยากลับมา
เมื่อถึงเวลาที่พระองค์ยกทัพทางเรือหลังจากเสร็จศึกโดยหมายพระทัยว่าจะมาสร้างเมืองหลวงใหม่ ณ เมืองธนบุรีกองทัพเรือของพระองค์ได้มาจอดเทียบท่าที่หน้าวัดมะกอก
หน้าพระปรางค์สูง 16 เมตร (พระปรางค์องค์เก่าตั้งแต่สมัยอยุธยา ลักษณะคล้ายพระปรางค์วัดระฆังในปัจจุบัน) ในยามเช้าตรู่ พระองค์ทรงเห็นว่าเวลาเช้าตรู่นั้นเป็นเวลามงคลยิ่งนัก จึงทรงโปรด ให้ตั้งชื่อใหม่ว่า "วัดแจ้ง" พระองค์ก็สถาปนากรุงธนบุรีขึ้นเป็นเมืองหลวง และได้สร้างพระราชวังบริเวณติดกับวัดแจ้งและขยายเขตพระราชฐานออกไปจนครอบคลุมวัดแจ้งและกลายเป็นวัดในพระราชวังเฉกเช่นเดียวกับวัดพระศรีสรรเพชญ์ในสมัยกรุงศรีอยุธยา และวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
วัดแจ้งฯ มีความเป็นมาตั้งแต่สมัยอยุธยา เดิมมีชื่อว่า วัดมะกอก โดยตั้งตามลักษณะในท้องถิ่นที่ตั้งอยู่ ซึ่งเรียกกันว่า
บางมะกอก เหตุเพราะมีต้นมะกอกน้ำขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อเรียกนานเข้าก็เพี้ยนเป็น "บางกอก" ซึ่งเป็นชื่อที่เพี้ยนเป็นภาษาอังกฤษเรียกกรุงเทพว่า "Bangkok"
หลังจากสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) ในขณะทรงเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ทรงได้บูรณะพระอารามทั้งอาราม และหลังจากขึ้นครองราชสมบัติ ทรงโปรดให้บูรณะพระปรางค์ทั้งองค์ขึ้นใหม่ สูงถึง 81.85 เมตร และกลายเป็นสัญลักษณ์หมุดหมายสำคัญที่ชาวต่างชาติจดจำถึงกรุงเทพมหานคร และประเทศไทยได้เป็นอย่างดี
สภาฟรีเมสันรัตนโกสินทร์ได้เลือก พระปรางค์วัดอรุณ เป็นสัญลักษณ์ของสภาฯ ไม่เพียงแต่ว่า พระปรางค์เป็นที่รู้จักทั่วไปเท่านั้น แต่ยังหมายถึง ความกล้าหาญ ความจงรักภักดีต่อชาติ และ ความเป็นอิสระ และเพื่อระลึกถึงความเป็นผู้นำของสมเด็จพระเจ้าตากสิน นอกจากนี้ ยังเป็นสัญลักษณ์ของ ความงามทางศิลปะ และความเข้มแข็ง ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) ที่ทรงพระปรีชาสามารถ ด้านศิลปะ การกวี ดนตรี และงานช่างงานแกะสลัก อีกทั้งด้านสถาปัตยกรรม ทรงเป็นนายช่างเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์พระองค์หนึ่ง ซึ่งฟรีเมสันก็มีที่มาจากช่างที่สร้างอาคารศาสนสถานอันใหญ่โตและมหัศจรรย์เช่นเดียวกัน และในปัจจุบันรัฐบาลยังได้กำหนดวันศิลปินแห่งชาติตรงกับวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) อีกด้วย
พระอารามแห่งนี้มีการเปลี่ยนชื่อหลายครั้งแต่ในที่สุดเมื่อสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้ปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้ และอัญเชิญพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมาบรรจุไว้ที่พระพุทธอาสน์ของพระประธานในพระอุโบสถ เมื่อการปฏิสังขรณ์เสร็จสิ้นลง พระราชทานนามวัดใหม่ว่า "วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร" หมายความว่า วัดหลวงในยามรุ่งอรุณ เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ประเภทราชวรมหาวิหาร
การสร้างสถานที่ประชุมประจำ
ในตอนปลายทศวรรษที่ 1990 บรรดาสมาชิกฟรีเมสันในประเทศไทยเห็นพ้องต้องกันว่า สภาฟรีเมสันที่ก่อตั้งภายในธรรมนูญสกอตแลนด์ในประเทศไทย ควรมีหอประชุมเป็นของตัวเองเพื่อใช้ในการประชุม และประกอบพิธีการต่างๆ จึงได้จัดหาทุนโดยการ ระดมเงินทุนทั้งจากสมาชิกฟรีเมสันทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ เพื่อซื้อที่ดินและก่อสร้างอาคารหอประชุม
ท่านอาจารย์ กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา อดีตประธานสภาฟรีเมสัน St John ได้ออกแบบอาคาร โดยเริ่มก่อสร้างภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญชาวฟรีเมสันให้อาคารมีความหมายและตรงตามธรรมเนียมของชาวฟรีเมสัน ในที่สุดอาคารหอประชุมได้ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2004 บัดนี้เป็นที่ประชุมของ สภาฟรีเมสัน เซนต์จอห์น, สภาฟรีเมสันรัตนโกสินทร์ และสภาฟรีเมสันอื่นๆที่ก่อตั้งภายใต้ธรรมนูญอื่นๆ อีกด้วย






พระปรางค์วัดอรุณยามค่ำคืน
Cr. KOSIN SUKHUM
ลายแกะสลักไม้บานประตู พระวิหารหลวง
วัดสุทัศน์ฯ ฝีพระหัตถ์รัชกาลที่ 2